“บิ๊กต๊อก” ลง MOU ผนึกกำลังประเทศลุ่มน้ำโขงและ UNODC แก้ยาเสพติดสามเหลี่ยมทองคำ

 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท จ.กระบี่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) 7 ฝ่าย ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาค ได้แก่ ประเทศจีน ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม กัมพูชา และ UNODC โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของแต่ละประเทศและหน่วยงาน เข้าร่วมการประชุม
 
        พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่ริเริ่มการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาตั้งแต่ปี 2536 และได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือนี้ให้เกิดผลประจักษ์ โดยเห็นว่า UNODC และประเทศในอนุภูมิภาคควรมองปัญหาแบบองค์รวม คือมุ่งเป้าหมายและระดมสรรพกำลังไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเป็นหลัก เนื่องจากยังเป็นแหล่งที่มีการลักลอบผลิตยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อประเทศในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ควบคู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศของแต่ละประเทศ 
 
       พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า นอกจากการทำงานในกรอบ MOU 7 ฝ่ายแล้ว ประเทศภาคียังทำงานร่วมกันในแผนปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย ซึ่งเริ่มโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2556 เพื่อทำให้พื้นที่ลำน้ำโขงและพื้นที่ใกล้เคียงปลอดภัยจากการลักลอบขนส่งยาเสพติด การปฏิบัติการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ของ 4 ประเทศคือ จีน ลาว เมียนมา และไทย ประสบผลสำเร็จอย่างดี และในปี 2559 ได้ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมประเทศเวียดนามและกัมพูชา ตามแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปีของโครงการ ซึ่งด้วยข้อมูลการข่าวที่รวดเร็วและเป็นปัจจุบัน ทำให้การทำงานเป็นทีมของทั้ง 6 ประเทศ ได้ผลดีมาก และเป็นอีกตัวอย่างให้กับประเทศในภูมิภาคอื่นที่ประสบปัญหายาเสพติดได้ใช้รูปแบบของโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน 
 
        พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการแสดงออกถึงความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นและปณิธานอันแรงกล้าของประเทศภาคีสมาชิกบันทึกความเข้าใจ 7 ฝ่าย ที่ต้องการขจัดภัยคุกคามจากยาเสพติดให้หมดไปจากอนุภูมิภาคนี้ โดยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของแต่ละประเทศ นำโดยนายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. จะมาร่วมกันทบทวนสถานการณ์และหามาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ ผ่านการดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการ ว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ฉบับที่ 7 โดยมีกิจกรรมที่ประเทศไทยจะให้การสนับสนุนในปี 2559 ได้แก่ การส่งเสริมศักยภาพผู้ปฏิบัติงานสำนักงานประสานงานชายแดน (BLO) การตรวจพิสูจน์ยาเสพติด การเฝ้าระวังการเบี่ยงเบนสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ รวมถึงการสำรวจเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อการลักลอบขนยาเสพติดด้วย
 
ภาพ/ข่าว โดย:http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1464000544

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *