กฎหมายน่ารู้ กับทนายคู่ชาวบ้าน

    กฎหมายน่ารู้ กับทนายคู่ชาวบ้าน

เงินทองเป็นของนอกกาย….!!

รับฝากเงินไว้แล้วไม่คืน กับ รับเงินไว้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เบียดบังเงินนั้นโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 หรือไม่ ?

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วางหลักไว้ว่า

 “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก”

องค์ประกอบความผิดแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. องค์ประกอบภายนอก

 (1) ผู้ใด

 (2) ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

 (3) เบียดบังเอา เป็นของตน หรือบุคคลที่สาม

 (4) ซึ่งทรัพย์นั้น

  1. องค์ประกอบภายใน

 (1) เจตนาธรรมดา (ประสงค์ต่อผล เล็งเห็นผล)

 (2) เจตนาพิเศษ “โดยทุจริต”

“ยักยอก”  เป็นกรณีที่ผู้กระทำครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เบียดบังทรัพย์นั้นโดยทุจริต

 มีข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับการครอบครองของผู้ยักยอกบางประการดังต่อไปนี้

  1. การครอบครองอาจเกิดขึ้นโดยชอบ เช่น ครอบครองในฐานะเป็นผู้เช่าทรัพย์

  2. การครอบครองอาจจะเกิดขึ้นโดยการแย่งการครอบครองซึ่งผู้แย่งการครอบครองไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น

 (ก) การกระทำไม่เป็นการพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ เช่น เอาทรัพย์ไปใช้ชั่วคราว

 (ข) ผู้กระทำขาดเจตนาธรรมดา กล่าวคือ มิได้ประสงค์ต่อผล หรือมิได้เล็งเห็นผล

 – ขาดเจตนา เพราะไม่รู้ว่าเป็นการแย่งการครอบครอง เช่น หยิบสร้อยคอผิดเส้นโดยเข้าใจว่าเส้นที่หยิบไปนั้นเจ้าของมอบให้

 – ขาดเจตนาเพราะ เพราะไม่รู้ว่าเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น เช่น หยิบร่มของผู้อื่นไปแต่เข่าใจว่าเป็นของตัวเอง

มาดูตัวอย่างในเรื่องการฝากเงิน กับ การรับเงินไว้เพื่อจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง

  1. การฝากเงิน

 – ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 672 วางหลักไว้ว่า …… ผู้รับฝากเงิน “จะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้” เพียงแต่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น………

 ดังนั้นการที่ผู้รับฝากนำเงินที่รับฝากออกใช้หรือไม่ยอมคืนให้เมื่อถูกทวงถามจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก โดยผู้ฝากเงินจะต้องฟ้องร้องเรียกคืนเงินจากผู้รับฝากในทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2534

 โจทก์ร่วมถูกฟ้องคดีอาญา จำเลยได้รับฝากทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ และเงินจำนวนหนึ่งไว้จากโจทก์ร่วม ต่อมาหลังจากพ้นคดีแล้วโจทก์ร่วมไปทวงทรัพย์สินที่ฝากไว้คืนจากจำเลยแต่จำเลยไม่คืนให้ กรณีเป็นเรื่องโจทก์ร่วมและจำเลยฝากทรัพย์กัน ดังนั้นเงินทั้งหมดที่โจทก์ร่วมฝากไว้จำเลยผู้รับฝากจึงมีสิทธิที่จะนำออกใช้ได้หากจำต้องคืนแก่โจทก์ร่วมให้ครบตามจำนวนเท่านั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต เพียงแต่เมื่อโจทก์ร่วมทวงถามจำเลยไม่คืนให้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องฟ้องร้องเรียกคืนจากจำเลยในทางแพ่ง การที่จำเลยนำเงินที่รับฝากนั้นออกใช้หรือไม่คืนให้เมื่อถูกทวงถามหาเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกไม่ ส่วนการรับฝากทรัพย์สินอื่นนั้น เมื่อได้ความว่า โจทก์ร่วมทวงถามแล้วจำเลยไม่คืนให้โดยเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก.

 เห็นได้ว่าตามฎีกานี้ การฝากทรัพย์สินอื่น เมื่อกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ฝาก ผู้รับฝากเพียงแต่ครอบครองทรัพย์นั้น หากผู้รับฝากไม่คืนทรัพย์ที่ฝากโดยเจตนาทุจริต “ก็ผิดฐานยักยอก” ผู้รับฝากจะนำทรัพย์ออกใช้สอยหรือมอบให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฝากไม่ได้

  1. การรับเงินไว้เพื่อจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เบียดบังเงินนั้นโดยทุจริตก็เป็นยักยอกได้

 ตัวอย่างเช่น นายแดงส่งเงินให้นายดำเพื่อให้นายดำไปซื้อของมาให้ หากนายดำรับเงินแล้วเอาไปใช้ก็เป็นยักยอกได้ หรือแม้แต่นายดำไปซื้อของให้นายแดงตามที่ดีรับมอบหมายแล้ว ถ้าการใช้เงินซื้อของนั้นได้ทำเพื่อประโยชน์ของนายดำเอง ก็เป็นการเบียดบังโดยทุจริตแล้ว เป็นความผิดฐานยักยอกได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2536

 “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 โจทก์ร่วมได้มอบเงินจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลยให้ช่วยนำไปฝากเข้าบัญชีของบริษัท ศิริมณี จำกัด ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชดำเนินจำเลยรับเงินจากโจทก์ร่วมแล้วมิได้นำไปฝากเข้าบัญชีแต่เบียดบังเอาเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตคดีคงมีปัญหาวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาว่าการรับเงินจากโจทก์ร่วมเพื่อไปฝากเข้าบัญชีดังที่รับฟังเป็นยุติข้างต้นถือได้ว่า จำเลยครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 หรือไม่เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อไปฝากเข้าบัญชีเป็นการส่งมอบทรัพย์ให้อยู่ในความยึดถือของจำเลยเป็นการมอบให้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าวแทนโจทก์ร่วม จำเลยจึงอยู่ในฐานะครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเมื่อจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต จำเลยจึงต้องมีความผิดดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาถูกต้องแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

ที่มา…กฎหมายอาญา ภาคความผิด

   นายภัตธนสันต์ กฤตชัยพงศ์

  ทนายความแม่สายนิวส์ ออนไลน์

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *