ทัพฟ้าไทยเจ๋ง! ประกาศศักดายุทธเวหา กรณีพิพาทอินโดจีน

สงครามอินโดจีน, ฝูงบินศานิต, เครื่องบินคอร์แซร์, ทัพฟ้าไทย, สอยเครื่องบินฝรั่งเศส, กรณีพิพาทอินโดจีน

วีรกรรมของทหารไทยในครั้งนั้น ทำให้ฝรั่งเศสถึงกับต้องทึ่งและเกรงกลัวต่อทัพฟ้าของไทยอย่างมาก จนต่อมาเขาได้รับการยกย่อง โดยมาตั้งเป็นชื่อฝูงบินว่า ‘ฝูงบินศานิต”

          ช่วงนี้ของ 77 ปีก่อน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังฝรั่งเศสแพ้ต่อนาซีเยอรมนีในปี 2483 และถูกเยอรมนีเข้ายึดครอง ทำให้มีกำลังทหารไม่เพียงพอที่จะรักษาพื้นที่อินโดจีนฝรั่งเศส จึงขอให้ไทยลงนามในสัญญาไม่รุกรานต่อกัน

          แต่ขณะเดียวกัน กลับยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในเวียดนามและกัมพูชาอันเป็นภัยคุกคามต่อไทย รัฐบาลไทยได้ไปเจรจาเพื่อขอปรับปรุงเส้นเขตแดนแม่น้ำโขงอีกครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธ จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่ปวงชนชาวไทยเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่มีประชาชนนับหมื่นคนออกมาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส

          ส่วนหนึ่งเพราะ พลตรี แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของไทย ตัดสินใจว่าความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส จะยิ่งทำให้ไทยมีโอกาสทวงดินแดนที่เคยเสียไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนมามากกว่า รัฐบาลไทยจึงได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ถือเอาร่องแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน และขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าฝรั่งเศสไม่สามารถปกป้องได้ ก็คืนลาวและกัมพูชาให้แก่ไทย

          แต่แน่นอนที่ฝรั่งเศสจะไม่ยินยอม ตรงกันข้ามกลับล่วงล้ำอธิปไตยของไทยโดยส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม ทำให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ กองทัพไทยจึงได้ตอบโต้โดยส่งกองทัพบกและกองทัพอากาศบุกเข้าไปในอินโดจีนโดยทางลาวและกัมพูชา

          จนนำมาสู่ ยุทธเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2483 เมื่อ นายเรืออากาศตรี ศานิต นวลมณี ผู้บังคับหมวดบินที่ 1 ฝูงบินตรวจการณ์กองบินน้อยผสม อุดรธานี พร้อมด้วย จ่าอากาศโท ประยูร สุกุมลจันทร์ ผู้ทำหน้าที่พลปืนหลัง นำเครื่องบินคอร์แซร์ ขึ้นสกัดเครื่องบินโปเตซ 1 ลำ และเครื่องบินโมราน 5 ลำของฝรั่งเศส ที่บินล้ำน่านฟ้าเขตแดนไทยเข้ามาทางทิศใต้ของ จ.นครพนม การต่อสู้ในครั้งนั้นดำเนินไปอย่างดุเดือด

          จ่าอากาศโท ประยูร สามารถยิงเครื่องบินโมรานตก 1 ลำ จนกระทั่งกระสุนหมด นายเรืออากาศตรี ศานิต พยายามนำเครื่องบินกลับเข้ามาในเขต จ.นครพนม โดยมีเครื่องบินข้าศึกไล่ตามอย่างกระชั้นชิด ขณะเดียวกัน นักบินไทย 2 คน ได้นำเครื่องบินฮอว์ค 3 เข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก่อนที่การรบจะยุติลงโดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้รับอันตรายหรือเสียหายแต่ประการใด

          จากครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดจุดหักเหของยุทธศาสตร์สงครามครั้งนี้ มาจากการที่กองทัพไทย สามารถนำเครื่องบินออกสู้ประจัญบานกับกองทัพอากาศฝรั่งเศสอินโดจีนได้ จนทำให้ฝรั่งเศสตกลงขอพักรบ

          วีรกรรมของทหารไทยในครั้งนั้น แม้ว่าทัพฟ้าของไทย จะเป็นรองมหาอำนาจอย่างประเทศฝรั่งเศสก็ตาม แต่ด้วยเพราะวีรกรรมดังกล่าว ของนาวาอากาศตรี ศานิตย์ นวลมณี และลูกทัพฟ้าของไทยอีกหลายคน ทำให้ฝรั่งเศสถึงกับต้องทึ่งและเกรงกลัวต่อทัพฟ้าของไทยอย่างมาก

ทัพฟ้าไทยเจ๋ง! ประกาศศักดายุทธเวหา กรณีพิพาทอินโดจีน

นายเรืออากาศตรี ศานิต นวลมณี

          ในวันที่ 10 ธันวาคม 2483 ท่านได้รับคำสั่งให้นำเครื่องบินไปโจมตีสนามบินเวียงจันทน์(ให้ฝรั่งเศสรู้ว่า ทางไทยเราก็สามารถนำเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในดินแดนที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าของได้เหมือนกัน) โดยเดินทางออกจากสนามบินอุดรธานี ขณะที่เข้าโจมตีสนามบินเวียงจันทน์ เครื่องบินของนาวาอากาศตรี ศานิตย์ ถูกปืนกลจากฝ่ายพื้นดิน ระดมยิงเข้าใส่อย่างหนักหน่วง จนทำให้ถังน้ำมันทะลุและเกิดไฟลุกไหม้ ตัวเรืออากาศตรี ศานิตย์ ถูกไฟคลอกและถูกกระสุนยิงเข้าใส่ที่หัวเข่า แต่ก็กัดฟัน นำเครื่่องบินที่ลุกไหม้ บินกลับอุดรฯ แล้วใช้ร่มชูชีพ กระโดดออกจากเครื่องบิน

          ในขณะที่ ร.ท. เฉลิม ดำสัมฤทธิ์(พลปืนหลัง)ถูกไฟลวกและตกลงพร้อมกับเครื่องบินสู่พื้นดินและเสียชีวิตทันที ส่วนนาวาอากาศตรี ศานิตย์ ถึงแก่กรรมลงในไม่กี่วันต่อมา คือวันที่ 23 ธันวาคม 2483 แต่ด้วยวีรกรรมครั้งนั้น ต่อมาชื่อของเขา ได้รับการยกย่อง โดยมาตั้งเป็นชื่อฝูงบินว่า ‘ฝูงบินศานิต’

ทัพฟ้าไทยเจ๋ง! ประกาศศักดายุทธเวหา กรณีพิพาทอินโดจีน

เครื่องคอร์แซร์ เป็นเครื่องบินแบบแรกที่ใช้ใันครั้งนั้น

          ซึ่งบุคคลนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระเอกยอดนิยมในอดีต อย่างมิตร ชัยบัญชา ที่ก็เคยเป็นทหารอากาศมาก่อน และก่อนที่เขาลาออกจากกองทัพอากาศ เขามีความประทับใจต่อวีรกรรมอันกล้าหาญของนาวาอากาศตรี ศานิตย์ นวลมณีมาก ถึงขนาดวาดหวังไว้ว่าภาพยนตร์เรื่องต่อไป เขาจะสวมบทบาทเป็นนาวาอากาศตรี ศานิตย์ นวลมณี โดยชื่อของภาพยนตร์คือ ‘จ้าวเวหา’ เพียงแต่มิตร ชัยบัญชา ต้องมาเสียชีวิตเสียก่อน

//////

ขอขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ มิตร ชัยบัญชา โดยนายแพทย์ ยรรยง โพธารามิก

http://rach1968.blogspot.com/2014/09/blog-post_7.html

และ https://en.wikipedia.org/

ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก – คมชัดลึก  http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/303716

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *