สื่อพม่ารายงาน “ประชุมสัญญาป๋างโหลงศตวรรษที่ 21” เป็นไปอย่างราบรื่นในวันแรก ด้านกลุ่มภาคประชาสังคมสะท้อนความเห็น หากไม่แก้รัฐธรรมนูญที่กองทัพพม่าร่างขึ้น “สันติภาพ” เกิดขึ้นได้ยาก

สำนักข่าวมิซซิม่า รายงานข่าววันนี้ (1 กันยายน) ว่า การประชุมสัญญาป๋างโหลงศตวรรษที่ 21 เป็นไปอย่างราบรื่น โดยมีภาพรัฐบาล NLD กองทัพพม่า ผู้นำและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มภาคสังคมต่าง ๆ รวมไปถึงนักสังเกตการณ์จากต่างชาติได้รวมตัวกันในพิธีเปิดการประชุม ทุกฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยทักทายกันอย่างเป็นกันเอง มีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ชายหญิงสวมชุดแต่งกายท้องถิ่นสร้างสีสันให้กับงานอยู่ไม่น้อย มีรายงานว่า นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐได้ขึ้นกล่าวเป็นเวลา 18 นาที โดยระบุรัฐบาลของเธอนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศ และยังกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น โดยระบุ หากทุกฝ่ายร่วมกันทำงานเพื่อสันติภาพ เชื่อว่าจะสามารถสร้างระบอบสหพันธรัฐขึ้นมาได้ “สัญญาหยุดยิงแห่งชาติไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะสันติภาพ แต่เป็นเหมือนฝันในการสร้างระบอบสหพันธรัฐ” ก่อนจบการขึ้นกล่าวเปิดพิธี นางซูจีได้เตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ลงนามหยุดยิงกับกลุ่มที่ยังไม่ลงนามหยุดยิงจะทำให้กระบวนการสันติภาพต้องชะงักงันออกไป ขณะที่ทางพลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่าได้ขึ้นกล่าวต่อจากนางซูจี โดยระบุว่า หากประชาชนจับอาวุธขึ้นมาปฏิวัติ นั่นถือเป็นการต่อต้านระบอบประชาธิปไตย โดยกล่าวว่า กองทัพพม่านั้นสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และเข้าใจดีถึงความกังวลของกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สัญญาหยุดยิงแห่งชาติ (NCA) ร่างขึ้นตามคำเรียกร้องและคำเสนอแนะจากกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนจบกล่าวพิธีเปิด พลเอกมิ้นอ่องหล่ายกล่าวทิ้งท้ายว่า หากใช้เวลานานในการสร้างกระบวนการสันติภาพจะส่งผลให้เผชิญกับความตึงเครียดและถูกแทรกแซงจากกลุ่มอื่น จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้ทันกับเวลาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะประชาชนต่างคาดหวังสูง นอกจากนี้ยังมีผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ขึ้นกล่าวเปิดพิธี อย่างนายพลมูตู เซพอ ประธาน KNU พลตรีแอ่น บันละ ประธานกลุ่ม UNFC (สภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพ) ที่ขึ้นกล่าวและชี้ถึงสาเหตุว่าทำไม กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ ถึงต่อต้านรัฐบาล และเหตุใดถึงกลับมาเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพในตอนนี้ ซึ่งนายพลแอ่น บันละ กล่าวว่า ที่เข้ากระบวนการสันติภาพเพราะต้องการสนับสนุนให้นางซูจี นำสันติภาพกลับคืนสู่ประเทศ นอกจากนี้ยังมีนายบันคีมูน และผู้นำคนอื่น ๆ อีกหลายคนขึ้นกล่าวในพิธีเปิดประชุมเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ผู้เข้าร่วมในพิธีเปิดเมื่อวานจะออกมาแสดงความเห็นว่า การประชุมเป็นไปราบรื่น แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงสะท้อนออกมาจากกลุ่มภาคประชาสังคมและจากหลาย ๆ กลุ่มในพม่า เช่น นายไนหง่วยเต็ง รองประธานพรรคแห่งชาติมอญ (Mon National Party) ที่กล่าวว่า การประชุมป๋างโหลงในครั้งนี้เป็นเพียงการมารวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้น เพราะในเรื่องประเด็นสำคัญ ๆ ยังจะไม่มีการตัดสินใจในครั้งนี้ ระบอบประชาธิปไตยสหพันธรัฐยังคงอยู่ห่างไกลออกไป และตามสัญญาหยุดยิงแห่งชาติ ทุกก้าวสำคัญจะต้องดำเนินภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2551 ที่กองทัพพม่าร่างขึ้น ดังนั้นหากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข นายไนหง่วยเต็ง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กองทัพพม่ายังคงมีอิทธิพล ยกตัวอย่างควบคุมกระทรวงสำคัญต่าง ๆ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคความยากลำบากที่จะทำให้พม่าไม่สามารถไปถึงสันติภาพได้ โดยเขายังระบุว่า นางซูจีสามารถทำได้แค่สอนเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการออกคำสั่ง และสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกเพื่อให้ประเทศสงบสุขนั้น ไนหง่วยเต็ง กล่าวว่า การเจรจาทางการเมืองต้องเกิดขึ้นก่อนและความพยายามในลงนางหยุดยิงให้สำเร็จ “หากคุณลงนามหยุดยิงกับอีกกลุ่ม แต่รบกับอีกกลุ่ม คุณจะไม่มีทางได้สันติภาพ” เขากล่าว ขณะที่เสียงสะท้อนจากคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำงานด้านภาคสังคมอื่น ๆ ก็แสดงความเห็นสอดคล้องกันคือ ไม่ได้คาดหวังการประชุมครั้งนี้มากนัก และเชื่อว่า ปัญหาต่าง ๆ จะไม่สามารถแก้ไขได้ในการประชุมครั้งเดียว แต่ต้องการให้เกิดการเจรจาต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ทหารร่างขึ้น รวมถึงการกระจายอำนาจ ฟังเสียงของอีกฝ่ายแม้จะมีความเห็นต่างกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็ก ๆ เข้ามีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้แสดงความเห็นว่า ความเชื่อใจระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามบางส่วนเชื่อว่า การประชุมสัญญาป๋างโหลงจะเป็นก้าวแรกสำคัญที่จะนำไปสู่สันติภาพในพม่าแม้จะต้องใช้เวลาอีกนานก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้าที่จะมีการจัดประชุม มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อป้ายชื่อของกลุ่มผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ไม่มีการระบุยศนำหน้า ขณะที่ป้ายชื่อทหารพม่ากลับมีการระบุเต็มยศ ทางด้านโฆษกของกองทัพเอกราชคะฉิ่น นายดั่งข่า กล่าวแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างเท่าเทียม ทางด้านนักวิเคราะห์การเมืองพม่าอย่างนายอูมิ้นสิ่น กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรละเลยเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ เพราะอาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่โตได้ ที่มา Irrawaddy/Mizzima/Myanmar Times

….ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ : Link>>> http://transbordernews.in.th/home/?p=13968 .

แหล่งข่าวจาก  http://transbordernews.in.th/home/?p=13968

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *