“ซูจี” เผชิญบททดสอบสุดหินเจรจาสันติภาพกลุ่มติดอาวุธสัปดาห์นี้

เอเอฟพี – อองซานซูจี กำลังจะเผชิญต่อสิ่งที่อาจเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดของการเป็นผู้นำ เมื่อเปิดการประชุมสันติภาพทางชาติพันธุ์ครั้งสำคัญในวันพุธ (31) ที่มีเป้าหมายจะยุติสงครามที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศนับตั้งแต่เป็นเอกราช

“ซูจี” เผชิญบททดสอบสุดหินเจรจาสันติภาพกลุ่มติดอาวุธสัปดาห์นี้
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 27 พ.ค. อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (หลังกลาง) เป็นประธานในการพบหารือในกรุงเนปีดอ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสันติภาพทางชาติพันธุ์ที่มีผู้แทนจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ สมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ทหาร เข้าร่วมด้วย ซูจีกำลังเผชิญกับสิ่งที่อาจเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดของการเป็นผู้นำเมื่อเปิดการประชุมสันติภาพครั้งสำคัญในวันที่ 31 ส.ค.นี้. — Agence France-Press/Aung Htet.

 

การประชุมหารือนาน 5 วัน จะเป็นการรวมตัวกันของแกนนำกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หลายร้อยคนในเมืองหลวง พร้อมกับนายทหารระดับสูง และคณะผู้แทนจากต่างประเทศ เช่น นายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ

การประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามของซูจีที่จะจัดการต่อปัญหาความไม่สงบของกลุ่มกบฏที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานทั่วรัฐชายแดนของประเทศ

ซูจี ได้ชูประเด็นการยุติการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นของรัฐบาล

“หากคุณถามฉันว่าอะไรคือเป้าหมายที่สำคัญประเทศ สิ่งนั้นคือ การบรรลุสันติภาพ และความสามัคคีในหมู่ประชาชนที่แตกต่างหลากหลายของชาติเรา” ซูจี กล่าวระหว่างเยือนจีนเมื่อไม่นานนี้

“หากปราศจากสันติภาพ ก็ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน” ซูจี ย้ำ

อองซานซูจี หวังที่จะขยายการลงนามหยุดยิงที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีระหว่างกองกำลังติดอาวุธบางกลุ่ม และรัฐบาลชุดก่อน โดยการประชุมในสัปดาห์นี้จะรวมทั้งกลุ่มที่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง และกลุ่มที่ยังไม่ลงนาม แม้ว่าบางกลุ่มยังจับอาวุธต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาล และบทบาทของกลุ่มติดอาวุธในการหารือครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน

แต่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับกองทัพอย่างมากที่กุมอำนาจสำคัญในรัฐบาล และบรรดาแกนนำติดอาวุธ

“ใครก็ตามที่กำลังคิดว่าจะมีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ พวกเขากำลังเพ้อฝัน” แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ความมั่นคง และนักเขียนของ IHS-Jane กล่าวคาดการณ์ถึงการเจรจาที่อาจใช้เวลานานหลายปี

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ถูกยกย่องว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ และเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ในประเทศที่เพิ่งหลุดพ้นจากอดีตดำมืดของการปกครองโดยทหาร

การประชุมที่ใช้ชื่อว่า “การประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21” ที่อ้างอิงถึงข้อตกลงในปี 2490 ที่ลงนามโดยนายพลอองซาน บิดาของซูจี เกี่ยวกับการปกครองตนเองกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ข้อตกลงดังกล่าวกลายเป็นโมฆะ เมื่อนายพลอองซาน ถูกลอบสังหารในไม่กี่เดือนต่อมา และประเทศก็เข้าสู่การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารนานเกือบครึ่งศตวรรษ

ซูจี เจริญรอยตามบิดาด้วยให้คำมั่นคล้ายกันว่าจะตั้งสหพันธรัฐ แต่ซูจี ก็ยังไม่เคยชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้

โฆษก UNFC หนึ่งในกลุ่มพันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธ 11 กลุ่ม ทั้งที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาล และยังไม่ลงนามที่เข้าร่วมการหารือ ระบุว่า การประชุมจะเป็นเหมือนกับพิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่

กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับอนุญาตให้กล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ แต่จะไม่มีเวลาสำหรับการอภิปรายหลังจากนั้น และตามแผนที่กำหนดไว้ระบุว่าจะมีการจัดการหารือทุกๆ 6 เดือน

แกนนำกลุ่มติดอาวุธรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า การประชุมครั้งนี้จะไม่ได้ข้อแก้ไขแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีการหารือหรืออภิปราย แต่อย่างไรก็ตาม นับเป็นโอกาสที่หาได้ยากที่จะได้พูดคุยอย่างเปิดเผยกับรัฐบาล.

แหล่งข่าวจาก http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9590000086231

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *